คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง : ไบโอดีเซล กับ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำดับเพลิง

สวัสดีครับ กับที่ห่างหายไปสักพัก วันนี้อยากนำเรื่องใกล้ตัวที่อาจมีหลายท่านยังนึกภาพไม่ออก หรืออาจยังเข้าใจผิดกันอยู่ เกี่ยวกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพต่ำหรือเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากน้ำมันดีเซลกับเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้า หรือเครื่องปั่นไฟ หรือ เครื่องสูบน้ำดับเพลิงที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลังขับ ที่ต้องหยิบยกประเด็นนี้มาก็เพื่ออยากให้ผู้ที่มีอุปกรณ์ลักษณะนี้ไว้ในครอบครองนั้นควรมีความตระหนักกันให้มากขึ้น เพราะ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือเครื่องสูบน้ำดับเพลิงนั้นเป็นอุปกรณ์ประเภทรองรับกรณีฉุกเฉิน หรือ Standby ดังนั้นจึงต้องมีความพร้อมตลอดเวลากรณีไฟฟ้าดับ หรือเกิดเหตุเพลิงไหม้ และยิ่งไปกว่านั้นอีกยังต้องรองรับให้เพียงพอตามพิกัดกำลังที่ผู้ออกแบบได้เลือกและติดตั้งไว้ตั้งแต่ต้นอีกด้วย

เริ่มจากเครื่องยนต์ดีเซลส่วนใหญ่นั้นถูกออกแบบมาสำหรับการใช้น้ำมันดีเซล และกำลังที่ระบุบน Name Plate นั้นก็ได้มาจากการทดสอบด้วยน้ำมันดีเซล ดังนั้นถ้าเราใช้น้ำมันชนิดอื่นมาทดแทนน้ำมันดีเซลหรือใช้น้ำมันที่มีคุณภาพต่างออกไปแล้วเราจะใช้ Name Plate นั้นอ้างอิงกำลังไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีทดลองหรือการสังเกตุจากการใช้งานกันเอง ดังนั้นการใช้ไบโอดีเซลนั้นก็เป็นหนึ่งเหตุผล

จากประสบการณ์ที่พบมานั้น ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า น้ำมันไบโอดีเซลนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้านำมาใช้กับเครื่องยนต์บางประเภทอาจได้ประโยชน์จากข้อดีเป็นอย่างมาก แต่เครื่องยนต์บางประเภทนั้นถ้าใช้น้ำมันไบโอดีเซลแล้วนั้นอาจเกิดผลเสียที่มากกว่าและเห็นผลเสียได้ชัดเจนกว่าได้ หรืออาจจะมีการประยุกต์ใช้ด้วยการนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลก็อาจจะเหมาะสมได้ตามแต่ลักษณะการใช้งานของเครื่องยนต์ ที่แตกต่างกันออกไป

1. น้ำมันไบโอดีเซล มีค่าความร้อนต่ำกว่าดีเซลจึงทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงมากขึ้นเพื่อให้ได้กำลังเท่าเดิม หรือกล่าวง่ายๆ คือ การใช้ไบโอดีเซลจะสิ้นเปลืองมากกว่า แต่ถ้าเครื่องยนต์ที่ต้องการรับภาระหนักขึ้น จะต้องฉีดเชื้อเพลิงที่มากขึ้นอีก อาจส่งผลให้สเปรย์หนาแน่นเกินไปและไม่สามารถเผาไหม้ได้สมบูรณ์ตามกำลังที่ประสงค์ได้เช่นกัน

2. น้ำมันไบโอดีเซล มีสูตรเคมีที่มีองค์ประกอบของออกซิเจนรวมอยู่ด้วย ทำให้ช่วยให้การเผาไหม้ที่สมบูรณ์และลดมลพิษได้บางตัวเช่น CO แต่อาจจะไปเพิ่ม NOx ได้เพราะการเผาไหม้ที่ดี

3. ไบโอดีเซลมีความหนืดสูงกว่าดีเซล ทำให้เพิ่มแรงเสียดทานในระบบลำเลียงเชื้อเพลิง หรือจะมีการสูญเสียแรงดันในระบบเชื้อเพลิงได้

4. สเปรย์ไบโอดีเซลจะพุ่งไกลกว่าได้และอาจกระทบผนังห้องเผาไหม้ได้ง่ายในปริมาณมาก ส่งผลให้การเผาไหม้แย่ลงได้ แต่ถ้าแก๊สในห้องเผาไหม้มีอุณหภูมิสูงพอและปั่นป่วนพอจะลดผลกระทบกรณีนี้ได้

5. ไบโอดีเซลอาจมีสบู่ตกค้างและทำให้เป็นเมือกปิดกั้นการไหลที่กรองน้ำมัน หรือทำให้อายุกรองน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำลง และยิ่งถ้าถูกแช่ไว้นานยิ่งสะสมเป็นอุปสรรคต่อการไหลมากขึ้นอีก

6. น้ำมันไบโอดีเซลนั้นมีจุดขุ่นหรือจุดไหลเทที่สูงกว่าดีเซลทำให้เกิดอุปสรรคต่อการไหลในระบบเชื้อเพลิงและอุดตันได้ง่าย แต่กลับกันจะเป็นประโยชน์ต่อการหล่อลื่นที่ดีที่อุณหภูมิสูงๆ ได้

7. ไบโอดีเซลมีจุดวาบไฟสูงกว่าดีเซล จะทำให้ติดไฟได้ยากกว่าดีเซล จึงปลอดภัยในการกักเก็บ ลดความเสียงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้

8. ไบโอดีเซลมีค่าซีเทนที่สูงกว่าดีเซล ช่วยให้การจุดระเบิดด้วยตัวเองได้เร็วกว่าได้ การจุดระเบิดที่เร็วนั้นจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการเผาไหม้เป็นอย่างมาก ส่งผลต่อช่วงเวลาการเกิดงาน การ Knock และอุณหภูมิไอเสีย แต่ถ้ามีการฉีดเชื้อเพลิงในปริมาณที่มากหรือที่ภาวะโหลดสูงๆ ข้อดีของไบโอดีเซลข้อนี้กูจะถูกหักล้างไป

9. ไบโอดีเซลที่ผลิตมาอาจมีน้ำปนอยู่ในปริมาณที่มากและอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย อีกทั้งน้ำยังเป็นปัจจัยต่อการเกิดสนิมและส่งผลเสียต่อระบบของเครื่องยนต์ที่ละเอียดอ่อนเช่นระบบของปั๊มและหัวฉีดเชื้อเพลิง

ความจริงแล้วการจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของน้ำมันเชื้อเพลิงกันนั้นต้องหยิบยกค่าคุณสมบัติทุกตัวมากล่าว แต่ที่นี้ผมขอหยิบยกเฉพาะประเด็นที่สำคัญมากล่าวเท่านั้น เห็นได้ว่าการใช้น้ำมันที่มีคุณภาพหรือคุณสมบัติต่างออกไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ชัดเจน ยิ่งสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ในระบบฉุกเฉินด้วยแล้วจึงต้องตระหนักกันให้มากขึ้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เข้าให้บริการจะพยายามกำชับลูกค้าให้คำนึงถึงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องดังเช่น

1. น้ำมันที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือน้ำมันชนิดไหน ผสมมากน้อยเพียงใด หรือเป็นน้ำมันตามท้องตลาด เช่น B7 ถึงแม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยแต่ก็มีผลกระทบได้เช่นกัน ดังนั้นควรเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลที่บริสุทธิ์ได้มากเท่าไหร่ยิงดี

2. กรองเชื้อเพลิงควรเปลี่ยนตามวาระอย่างเคร่งครัดเนื่องจากส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกรองประเภทกระดาษจะจับตัวกับพวกเมือกหรือสบู่ได้ดี และเสื่อมสภาพได้ง่าย

3. ควรมีการทวนสอบยืนยันสมรรถนะประจำปี และควรเปรียบเทียบสมรรถนะกับครั้งก่อนๆ เสมอเมื่อมีการใช้น้ำมันที่แตกต่างไป

4. ควรมีการเดรนน้ำก้นถังพักประจำสัปดาห์ จากที่กล่าวเห็นแล้วว่าน้ำนั้นส่งผลเสียต่อระบบเชื้อเพลิงเป็นอย่างมาก

5. ควรทดสอบเดินเครื่องประจำสัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาที

6. กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้น้ำมันคุณภาพต่ำหรือแตกต่างไป ควรมีการสลับใช้น้ำมันดีเซลบริสุทธิ์มาใช้เป็นครั้งคราวตามเหมาะสม

7. ควรทวนสอบระบบอื่นๆ โดยประกอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพไอเสีย น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ อย่างเป็นประจำ ตามคำแนะนำ NFPA110 หรือ NFPA25 เพื่อให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือเครื่องสูบน้ำดับเพลิงของท่านนั้นอยู่ในสภาวะพร้อมและมีสมรรถนะที่ดีอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายนี้ทางเราก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และอย่าลืมนำไปพิจารณากันนะครับว่าขณะนี้ท่านใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบไหนกันอยู่

ขอบพระคุณมากครับ

 

 

 

 

 


Leave a Reply

Your email address will not be published.