เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ เครื่องสูบน้ำดับเพลิง หรือเครื่องยนต์ มีอาการน้ำหล่อเย็นผสมน้ำมันเครื่องในก้นอ่าง

สวัสดีกับเดือน สิงหาคมครับ วันนี้ได้มีโอกาสเอาประสบการณ์การแก้ปัญหาเครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีอาการน้ำหล่อเย็นลงผสมน้ำมันเครื่องมาเล่าสู่กันฟังครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์และนำไปช่วยในการวิเคราะห์กันได้ครับ สำหรับอาการน้ำผสมลงห้องเครื่องนั้นเป็นปัญหาการวิเคราะห์ที่ไม่ยาก ถ้าเราเข้าใจหลักการทำงานของระบบของเหลวในระบบร่วมกับหลักการทางเครื่องยนต์แล้วเชื่อว่ามากกว่า 90% แก้จบได้อย่างประหยัดและไม่บานปลาย สำหรับของไหลที่เกี่ยวข้องในเครื่องยนต์หลักๆ ทั่วไปนั้นจะมีอยู่ 4 ชนิด คือ 1. น้ำหล่อเย็น 2. น้ำมันหล่อลื่น 3. อากาศ 4. น้ำทะเล (กรณีเรือสินค้าหรือเรือยนต์) แต่ถ้าซับซ้อนมาหน่อยก็จะมีน้ำมันประเภทหล่อลื่นเทอร์โบหรือ Governor ที่ใช้แตกต่างออกไปในที่นี้ไม่ขอกล่าวถึงครับ เห็นได้ว่าของเหลวในเครื่งยนต์นั้นมีหลายชนิด ดังนั้นจะมีหลายกรณีของการรั่วไปผสมกันเช่น น้ำผสมอากาศ น้ำผสมน้ำมันเครื่อง น้ำมันเครื่องผสมน้ำ หรือผสมกันวุ่นวายไปหมด จากปัญหาดังกล่าวนี้ถ้าเรามีหลักวิเคราะห์จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยเริ่มจากให้เรานึกถึงอุปกรณ์ของเครื่องยนต์ให้ครบทั้งหมดที่เป็นประเภทเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน และเข้าใจทางเดินของไหลในเครื่องยนต์รอบตัว หลังจากนั้นให้จัดระดับแรงดันการทำงานของของเหลวแต่ละชนิด ทั้งขณะเดินเครื่องและดับเครื่อง รวมถึงของไหลที่อยู่ในบริเวณห้องเผาไหม้และแก๊สจากการเผาไหม้ประกอบด้วย และพิจารณาว่าบริเวณใดที่มีของเหลวชนิดใดทำงานอยู่ด้วยกัน ขอเริ่มจากอุปกรณ์รอบตัวของเครื่องยนต์ดังนี้

1. Oil Cooler คือเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ส่วนใหญ่ใช้น้ำหล่อเย็นไประบายความร้อนจากน้ำมันเครื่องออก ถ้ามีการรั่วเกิดขึ้น จะมีอาการน้ำมันเครื่องเข้าผสมน้ำหล่อเย็นในทันที เพราะแรงดันน้ำมันเครื่องนั้นสูงกว่าน้ำ 3-4 เท่าตัว ในขณะเดินเครื่อง แต่ในทางกลับกันถ้าดับเครื่องอาจมีน้ำรั่วไหลกลับไปผสมกับน้ำมันเครื่องได้ด้วย Gravity เพราะตอนดับเครื่องแรงดันน้ำมันเครื่องจะเท่ากับบรรยากาศ แต่น้ำหล่อเย็นมีระดับที่สูงกว่าจึงมีแรงดันสูงกว่า กรณีนี้จะมีการรั่วที่เล็กน้อย

2. Inter Cooler หรือบางครั้งกับเครื่องบางประเภทใช้คำว่า After Cooler ก็ได้ อุปกรณ์ประเภทนี้มี 2 แบบคือ แบบใช้น้ำหล่อเย็นมาระบายอากาศหลังอัด (หลังเทอร์โบ) กับใช้อากาศแวดล้อมผ่ายพัดลมมาระบายอากาศหลังอัด กรณีแรกจะรุนแรงและอันตรายมาก ถ้าเกิดการรั่วเกิดขึ้น เมื่อดับเครื่องน้ำจะไหลลงผสมอากาศในทันทีเพราะ Gravity และจะไหลลงห้องวาล์วทาง Intake Manifold เข้าห้องเผาไหม้ แล้วถ้าสูบไหนอยู่ในจังหวะที่วาล์วไอดีเปิดอยู่น้ำจะไหลลงไปขังในห้องเผาไหม้ทันที เมื่อสตาร์ทเครื่องก่อนที่เราจะตรวจสอบดูระดับน้ำในหม้อน้ำก็จะเกิดความเสียหายที่รุ่นแรงถึงขั้นฝาสูบโก่งกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเราดูระดับน้ำว่าพร่องไป ให้นึกถึงการสตาร์ทเครื่องครั้งสุดท้ายไว้และทบทวนก่อนจะเติมน้ำสตาร์ทซ้ำครับ เพราะถ้าเติมน้ำสตาร์ทซ้ำก็จะเสียหายอยู่ดี อาการนี้อาจมีการมองเห็นน้ำไหลลงห้องเครื่องได้เช่นกันแต่น้อยมาก เพราะน้ำที่ขังในห้องเผาไหม้จะไหลลงร่องแหวงลงไป

3. ฝาสูบแตกร้าวหรือรั่ว กรณีนี้ จะซับซ้อนสักนิดแต่โอกาศเกิดนั้นมีน้อยมาก ฝาสูบแต่ให้พิจารณาเป็น 2 กรณีคือ บริเวณที่ของเหลววงจรปิด กับของเหลววงจรเปิด ของเหลววงจรกิดคือน้ำหล่อเย็น แต่ของเหลววงจรเปิดคือน้ำมันเครื่องแต่ที่ฝาสูบนี้น้ำมันเครื่องจะมีแรงดัน 2 ระดับคือ ในทางเดินน้ำมัน กับนอกทางเดินน้ำมันเช่นในห้องวาล์ว กรณีมีการรั่วระหว่างทางเดินน้ำมันภายใน กรณีนี้ขณะเดินเครื่องจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าจะมีน้ำมันเครื่องเข้าผสมกับน้ำหล่อเย็นในหม้อน้ำทันที ลองเปิดฝาหม้อน้ำดูจะเห็น แต่กรณีฝาแตกรั่วออกทางเปิดให้ดูว่าทางเดินของเหลวชนิดไหนรั่วออกถ้าเป็นน้ำมันเครื่องจะไม่กระทบมากเพราะในเครื่องยนต์วงจรเปิดส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่ของน้ำมันเครื่องอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นทางน้ำรั้วออกทางเปิดจะเห็นชัดเจนว่าจะมีน้ำรั่วและเห็นบนห้องวาล์ว และจะไหลลงไปผสมน้ำมันเครื่องทันที กรณีนี้น้ำจะไม่เข้าห้องเผาไหม้ เครื่องยนต์จะสามารถสตาร์ทติดเดินโหลดได้ แต่จะมีอากาศ Overheat ตามมาในไม่กี่นาที

4. ประเกนฝาสูบ จุดนี้จะเป็นจุดทางเดินผ่านและปิดกั้นของเหลวทั้ง 3 ชนิด คือ แก้สในห้องเผาไหม้ น้ำ และ น้ำมันเครื่อง กรณีนี้ของเหลวจะผสมกันค่อนข้างยากมากเพราะตรงทางเดินจะมีจุดปิดกันของมันเองอยู่ทำให้เป็นการป้องกันแบบ 2 ชั้นอยู่แล้ว แต่ถามว่ารั่วได้ไหม ตอบว่าได้แต่จากประสบการณ์แล้วอาการรั่วที่ประเกนจะรั่วออกสู่ภายนอกเกือบทั้งหมดเช่น จะมองเห็นแก๊สเผาไหมออก น้ำหรือน้ำมันเครื่องจะซึมออกภายนอกมองเห็นได้บริเวณประเกนรอบฝาสูบ แต่ถ้ามีจุดใดบอบบางในเวลาเดียวกัน เช่นบริเวณแก๊สกับน้ำ จะเห็นอาการแก๊สรั่วเข้าระบบน้ำหล่อเย็นอาจเห็นเป็นเม็ดฟองอากาศเข้าผสมและมีคราบเขม่าติดไปด้วยเพราะถ้าลำดับแรงดันแล้ว แก๊สในห้องเผาไหม้จะมีแรงดันสูงสุดในจังหวะงาน แรงดันน้ำมันเครื่องจะต่ำลงมา และแรงดันน้ำหล่อเย็นจะต่ำกว่า อาการนี้จากหลักการนั้นเป็นไปได้ แต่จากประสบการณ์แล้วแทบไม่พบ

5. ปลอกสูบ จุดนี้เป็นจุดสำคัญและพบบ่อยที่สุด เพราะเป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับแก๊สเผาไหม้และน้ำหล่อเย็นมากที่สุด และเป็นจุดที่เปราะบางได้ง่ายจากผลของการเกิดสนิม แรงกระแทก ความร้อน

5.1 กรณีการรั่วที่ปลอกสูบถ้าอยู่ในบริเวณระยะอัดหรือ Compression Stroke น้ำจะรั่วเข้าห้องเผาไหม้ทันที เครื่องยนต์จะเดินสะดุดและติดขัด และอาจมีน้ำพ่นออกผสมมากับไอเสียได้ กรณีนี้น้ำอาจจะไหลลงร่องแหวนและเข้าห้องเครื่องได้

5.2 กรณีเกิดรั่วที่บริเวณต่ำกว่าระยะชักลงสุดแล้ว อาการนี้น้ำจะไม่เข้าห้องเผาไหม้ แต่จะไหลลงห้องเครื่องได้ทันที เครื่องยนต์จะสตาร์ทติดเดินจ่ายโหลดได้ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดอาการน้ำหายและ Overheat และจะพบมีน้ำผสมน้ำมันเครื่องในห้องเครื่อง ระดับจะสูง สีน้ำมันเครื่องจะขุ่นขาว

5.3 ซีลปลอกสูบรั่ว อาการนี้จะคล้ายกับข้อ 5.2 มาก แต่การสั่งเกตุ ให้เปิดก้นอ่างดูจะเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำจะรั่วไหลหยดออกมาทางด้านนอกของปลอกสูบ แต่อาการของข้อ 5.2 จะมีน้ำไหลหยดออกมาด้านในปลอกสูบ

จากที่กล่าวมาทั้ง 5 ประเด็นนั้น เป็นหลักการวิเคราะห์ตามหลักและประสบการณ์ที่ทางเราพบเจอและอยากนำมาเล่าให้ฟังกันครับ เผื่อจะช่วยเป็นประโยชน์กันไม่มากก็น้อยนะครับ กรณีอื่นๆ ถ้ามีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะใดๆ ยินดีรับและแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

ขอบคุณครับ


Leave a Reply

Your email address will not be published.